ในปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวเดินเรือสำราญ (Cruise) กำลังเติบโตและขยายตลาดในประเทศไทย แต่ละปีจะมีเรือสำราญเข้าเทียบท่าในไทยเพื่อเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เช่น เกาะภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย จังหวัด สุราษฎร์ธานี รวมถึงท่าเทียบเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากทวีปอเมริกา ยุโรป และทวีปเอเชีย มีเส้นทางเดินเรือจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเข้าสู่ไทยที่จังหวัดภูเก็ต และเส้นทางเดินเรือจากประเทศเวียดนามเข้าสู่ไทยที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบังและเกาะสมุย โดยหากพิจารณาแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวเดินเรือสำราญในภูมิภาค สิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจเดินเรือสำราญในภูมิภาคได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือ (Cruise Terminal) รองรับการเติบโตจากการขยายตัวของธุรกิจดังกล่าว ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางล่องเรือสำราญมาลงที่ท่าเรือสิงคโปร์ประมาณ 1.2 ล้านคนต่อปี และฮ่องกงเตรียมสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มเติม เช่นเดียวกับจีนที่มีท่าเรือซึ่งลงทุนสร้างให้มีความทันสมัยรวม 6 ท่า เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจเดินเรือสำราญในตลาดทวีปเอเชีย เรือสำราญที่เดินเรือมาไทยปัจจุบันมีจำนวนกว่า 10 ลำ แบ่งเป็นเรือของรอยัล แคริบเบียน ครูส 4 ลำ และปริ้นเซสครูส 6 ลำ แต่ละลำเดินเรือเข้ามาหลายรอบ ใช้ระยะเวลาต่อเที่ยวประมาณ 12 วัน ในปี พ.ศ.2554 – 2555 ที่ผ่านมา เรือสำราญที่เข้ามาในไทยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม มีจำนวนกว่า 120 เที่ยว ผู้โดยสารบนเรือเฉลี่ย 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีรายจ่ายโดยเฉลี่ยวันละ 6,000 บาทต่อคน จำนวนวันพำนักบนเรือต่อเที่ยวเฉลี่ย 12 วัน (ใช้เวลาอยู่ในไทยราว 3-4 วัน) โดยรวมแล้ว ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเดินเรือสำราญประมาณ 2.2 พันล้านบาทต่อปี คิดเป็นรายได้ที่สูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญประมาณร้อยละ 40 จะเดินทางท่องเที่ยวกับเพื่อน คู่รัก ครอบครัวหรือบุตรหลาน โดยนักท่องเที่ยวเรือสำราญเห็นว่า การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญเป็นทางเลือกที่ดีในการได้เห็นบ้านเมืองและจุดหมายปลายทางที่แตกต่างออกไป และพร้อมที่จะกลับมาเยี่ยมเยือนอีกในอนาคตหากมีความประทับใจ และมากกว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวเรือสำคัญ (ร้อยละ 58) เชื่อว่าการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญเป็นแนวทางการพักผ่อนที่ดีที่สุด การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญจึงเป็นการเปิดโอกาสในการแสวงหาจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ที่น่าประทับใจ ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะประทับใจและกลับมาเยี่ยมเยือนได้อีกในอนาคต จึงเป็นหนทางของเจ้าของประเทศหรือเจ้าของจุดหมายปลายทางที่จะใช้เป็นโอกาสที่ดีในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของตนเองผ่านธุรกิจเรือสำราญ
จากข้อมูลที่บันทึกไว้ของท่าเรือแหลมฉบังประจำปี 2556 เรือสำราญขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้าเทียบท่าจำนวน 36 เที่ยว โดยใช้บริการท่าเทียบเรือ A1 จำนวน 32 เที่ยว และท่าเทียบเรือ C0 จำนวน 4 เที่ยว ขนาดของเรือมีระวาง 30,000 – 140,000 ตัน ความยาวเรือ 180 – 300 เมตร กินน้ำลึก 5 - 10 เมตร โดยเรือลำใหญ่ที่สุดที่เข้าเทียบท่าคือเรือ Queen Mary II มีระวาง 148,528 ตัน ความยาว 344 เมตร กินน้ำลึก 10.5 เมตร บริษัทตัวแทนเรือที่นำเรือสำราญ ขนาดใหญ่เข้ามามากที่สุดคือ E.A.S Maritime Agencies (Thailand) Co., Ltd. เรือทุกลำจอดพักที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นเวลา 1 วัน
ชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่ภูเก็ต มีเรือสำราญ (Cruise) ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดยมีสายการเดินเรือที่มีศักยภาพทั้งจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ และเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่เนื่องจากท่าเรือ น้ำลึกภูเก็ตไม่สามารถรองรับเรือสำราญที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้ทั้งหมด ทำให้เรือสำราญบางส่วนเข้าไปจอดเทียบท่าที่หาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต หากคิดเป็นตัวเลขแล้วประมาณร้อยละ 40 ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) เรือที่เข้ามาเป็นประจำทุกสัปดาห์ ประกอบด้วย
- เรือ Superstar Gemini ใช้ประเทศสิงคโปร์ เป็น Port of Passenger เพื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวตามชายฝั่งทะเลอันดามัน ภาคใต้ของประเทศไทย เข้ามาเทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ตทุกวันพฤหัสบดี จำนวน 400-500 คน/สัปดาห์ กลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาจากประเทศออสเตรเลีย
- Superstar Virgo ใช้ประเทศสิงคโปร์ เป็น Port of Passenger เพื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวตามฝั่งทะเล อันดามัน ภาคใต้ของประเทศไทย เข้ามาเทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ต ทุกวันอังคาร จำนวน 1,000-2,500 คน/สัปดาห์ กลุ่มนักท่องเที่ยว จะมาจากกลุ่มประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่
2) เรือสำราญที่เข้ามาเป็นประจำในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป ประกอบด้วย
- C Columbus นักท่องเที่ยวจากประเทศเยอรมัน
- Funchal นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นยุโรป
- Astor นักท่องเที่ยวจากประเทศเยอรมัน
- Silver Shadow เป็นเรือในกลุ่มสายการเดินเรือของ Silver Sea นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาจะเป็นสัญชาติอเมริกา
- Nautica นักท่องเที่ยวจากประเทศในทวีปยุโรป
- Marco Polo นักท่องเที่ยวจากประเทศเยอรมัน
- Crystal Symphony นักท่องเที่ยวจากประเทศเยอรมัน
- Star Flyer นักท่องเที่ยวมาจากทั้งยุโรปและอเมริกา
- Seabourn spirit นักท่องเที่ยวมาจากทั้งยุโรปและอเมริกา
- Europa เป็นเรือขนาดกลาง มีความหรูหราเป็นอย่างมาก รองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเยอรมัน เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว High end ที่มีกำลังซื้อสูง
จังหวัดภูเก็ตได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากกลุ่มตลาดเรือสำราญ เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเรือสำราญ เข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ไม่ได้ใช้บริการด้านที่พักในจังหวัด แต่จะได้รับประโยชน์จากการใช้บริการด้านอื่นๆ ซึ่งบริษัทที่รับผิดชอบบริการภาคพื้นดิน จะเสนอโปรแกรมการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายต่อลูกค้าเรือสำราญ เช่น ทัวร์ขี่ช้าง ทัวร์เดินป่า ทัวร์ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายในแต่ละภูมิภาค ประกอบกับเสน่ห์ของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่งดงาม ทำให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของธุรกิจเดินเรือสำราญ โดยปัจจุบันเรือที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาจะใช้ไทยเป็นเพียง จุดพักเรือเพื่อท่องเที่ยวแบบไปกลับหรือค้างไม่เกิน 1-2 คืน เทียบกับสิงคโปร์และฮ่องกงที่มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่สำหรับพักและตรวจสภาพเรือ นักท่องเที่ยวจึงจะต้องขึ้นมาท่องเที่ยวบนฝั่งนานกว่า สำหรับในประเทศไทยยังขาดท่าเทียบเรือหลักที่รองรับเรือสำราญ โดยเฉพาะสำหรับการท่องเที่ยวบริเวณภาคใต้อันดามัน ดังนั้น หากมีการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญอย่าง เต็มรูปแบบ โดยพิจารณาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ จะเป็นการเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศ เรือสำราญจะจอดพักยาวนานขึ้น เพื่อตรวจสภาพเรือและอื่นๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย ค่าที่พัก ค่าอาหาร ของชำร่วย ของฝาก ของอุปโภคและบริโภคบนเรือสำราญ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวเดินเรือสำราญของภาคใต้ฝั่งอันดามันได้อย่างเต็มรูปแบบ
กรมเจ้าท่าจึงมีความประสงค์ที่จะว่าจ้างที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน (พื้นที่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล)